ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

จากยกมือขึ้นถึงฉันหายใจไม่ออก

แม้แต่ในดินแดนที่โฆษณาว่าเป็นดินแดนแห่งความเสมอภาคและโอกาสอย่างอเมริกาก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมและอคติที่หยั่งรากลึกจนเกินกว่าจะแก้ได้ง่าย ๆ

โดยเฉพาะเรื่องอคติทางสีผิวในอเมริกายังเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่แพ้ที่ใดในโลก ปัญหาเรื่องตำรวจ (ผิวขาว) เลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำมีมาช้านาน เกิดเป็นตะกอนสะสมกันมาหลายสิบปี เมื่อมีเหตุอะไรมากระตุ้น มันก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง

ใช้คำว่าอีกครั้งเพราะมันไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ความรู้สึกไม่เป็นธรรมระหว่างสีผิวยังคงดำเนินต่อไปในอเมริกา และขณะกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ก็กำลังประท้วงกันในหลายรัฐโดยเฉพาะในนิวยอร์กซิตี้ ที่ใช้คำว่า “ฉันหายใจไม่ออก” เป็นคำขวัญ และก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนในเซนหลุยส์ก็มีคำขวัญ “เราชูมือแล้ว” ใช้ในการประท้วงตำรวจเหมือนกัน

ประโยค “ฉันหายใจไม่ออก” เป็นประโยคสุดท้ายที่อีริก การ์เนอร์ชายผิวดำร่างใหญ่พูดก่อนเสียชีวิตระหว่างที่ตำรวจนิวยอร์คซิตี้ควบคุมตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาในเกาะสแตเทน นิวยอร์ก เขาต้องสงสัยว่าขายบุหรี่หนีภาษี ตำรวจหลายรายรุมล้อมเขา และเจ้าหน้าที่แดเนียล แพนทาลีโอได้ล็อกคอเขาจากด้านหลัง อิริกพยายามบอกว่าเขาหายใจไม่ออก แต่ไม่มีใครสนใจจนเขาเสียชีวิตในที่สุด

ฝ่ายชันสูตรลงความเห็นว่าเป็นความตายแบบ “ฆาตกรรม” เพราะถูกรัดคอกดทับจนหายใจไม่ออก และการล็อกคอจากด้านหลังเป็นเรื่องต้องห้ามตามนโยบายของกรมตำรวจนครนิวยอร์ก แต่ทางฝ่ายกฎหมายของตำรวจชี้แจงว่าถึงแม้จะมีการห้ามล็อกคอจากข้างหลัง แต่ไม่มีโทษทางอาญา สมาคมสหภาพตำรวจท้องถิ่นชี้แจงว่านายแดเนียลทำการภายใต้กรอบของกฎหมาย

และเมื่อคณะลูกขุนใหญ่นิวยอร์กคลงมติไม่ฟ้องนายตำรวจผู้ล็อกคออีริคระหว่างจับกุมจนเป็นเหตุให้ถึงตาย สร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนมาก เมื่อคืนวันที่ ๕ ธันวาคม (ตามเวลานิวยอร์ก) เกิดประท้วงกันขนานใหญ่ในเขตมิดทาวน์ แมนฮัตตัน บางส่วนนอนบนทางเท้าใกล้กับศูนย์ร็อกกีเฟลเลอร์ที่กำลังมีพิธีประดับไฟให้ต้นคริสต์มาส เพื่อประท้วงอย่างสงบ
เดอริก โรส นักบาสเก็ตบอลทีมชิคาโก้บูลส์ ใส่เสื้อ "ฉันหายใจไม่ออก"


ประโยค “ชูมือขึ้น” มาจากกรณีเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจคนผิวขาวยิงไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวสีอายุ 17 ปีที่ไม่มีอาวุธ ในเมืองเฟอร์กูสัน ทั้งที่ขณะนั้นมีคนเห็นว่าเขาชูมือขึ้นเหนือหัวแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ผู้ยิงไมเคิลอ้างว่าขณะนั้นไมเคิลวิ่งเข้าใส่เขา จึงจำเป็นต้องยิงเพื่อป้องกันตัว และเขาจำเป็นต้องทำไม่ว่าคนที่วิ่งเข้าหานั้นเป็นคนผิวขาวก็ตาม

กรณีนี้คณะลูกขุนใหญ่ไม่ฟ้องดำเนินคดี ก่อเกิดการประท้วง “ยกมือขึ้น” คือใช้สัญลักษณ์ยกมือเหนือศีรษะในลักษณะยอมจำนน แม้แต่ทีมอเมริกันฟุตบอล เซนหลุยส์แรมส์ ก็ยังแสดงท่านี้ ช่วงท้ายการแข่งเพื่อร่วมประท้วง ส่วนนายตำรวจผู้ยิงลาออกจากงานเพื่อรับผิดชอบและลดแรงกดดันต่อองค์กรเนื่องจากมีการขู่จะทำร้ายตำรวจที่ปฏิบัติงานในสถานีตำรวจเมืองเฟอร์กูสัน
นักอเมริกันฟุตบอลทีมเซนหลุยส์แรมส์ทำท่า "ยกมือขึ้นแล้ว อย่ายิง"

นี่ยังไม่นับกรณี ทาเมีย ไรส์ เด็กผิวดำวัย 12 โดนตำรวจยิงเสียชีวิตวันที่ 22 พฤศจิกายน ในคลิฟแลนด์ โอไฮโอ เพราะตำรวจเห็นเขาถือปืน ซึ่งปรากฏภายหลังว่าเป็นปืนลมบีบีกัน

ปัญหานี้คงเป็นปัญหาระดับชาติที่หยั่งรากฝังลึกลงไปทุกที

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความฝันของภรรยาชาวประมง

ภาพพิมพ์สมัยเอโดะภาพหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมาก ชื่อความฝันของภรรยาชาวประมง หรือบางทีก็เรียกว่า หญิงนักดำน้ำกับปลาหมึกยักษ์ ผลงานของคัทซูชิตะ โฮกุไซ

พญามังกรแดงผู้ยิ่งใหญ่

ในนิยาย Red Dragon ของ โธมัส แฮร์ริส มีตัวละครหนึ่งเรียกตัวเองว่า “พญามังกรแดงผู้ยิ่งใหญ่” หรือ The Great Red Dragon ฆาตกรต่อเนื่องผู้หลงใหลภาพเขียน The Great Red Dragon and the Woman Clothed in Sun ของวิลเลี่ยม เบลก

ภาพเขียนของจีน-มิเชล บาสเกียต์ ประมูลในราคา 110.5 ล้านดอลลาร์

มีคนประมูลภาพเขียนของจีน-มิเชล บาสเกียต์ ศิลปินผู้ล่วงลับไปในราคา 110.5 ล้านดอลลาร์ ทำให้ภาพเขียนของเขาเป็นภาพเขียนของศิลปินอเมริกันที่มีราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์