ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เคนดอลล์+ไคลี เอาปูชนียบุคคลในแวดวงดนตรีมาหากิน

มีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจคาบเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์โดยคนดัง คือบริษัท เคนดอลล์+ไคลี ของสองพี่น้อง ไคลีย์และเคนดอลล์ เจนเนอร์ สองพี่น้องคนดังออกลายเสื้อยืดชุดใหม่มาขายโดยใช้ภาพของคนดังในแวดวงดนตรีเป็นพื้นแล้วมีภาพของพวกเธอทับอยู่อีกที ศิลปินที่โดนนำภาพมาใช้ก็มีวงดังเช่น เดอดอส์ พิงก์ฟรอยด์ ทูแพ็ก ออสซี ออสบอร์น คิส เมทัลลิกา เดอะนอสโทเรียสบิ๊ก แบล็กซับบาธ

ที่ว่าน่าสนใจคือ เพราะมองได้สองแง่ มันเป็นวัฒนธรรมป็อป เป็นป็อปอาร์ต หรืออีกแง่หนึ่งคืออาศัยชื่อเสียงคนอื่นหากินอย่างหน้าด้านหน้าทนคนอะไร ยิ่งในชาติตะวันตกที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักก็น่าจะคำนึงได้ว่าน่าจะมีปัญหาทางกฎหมายตามมา และไคลีน่าจะรู้ดีเป็นพิเศษเพราะก่อนหน้านี้ไม่นานเสื้อของเธอก็โดนกล่าวหาว่าลอกการออกแบบของยี่ห้อ ปลั๊กเจ็ดเอ็นวายซี (Pluggednyc) และมีหลักฐานว่าเธอเคยซื้อลายคาโมที่เอามาใช้นี้ด้วย


และก็มีตามมาอย่างที่คิด เช่นโวเลตตา วอลเลนซ์ มารดาของนอสโทเรียสบิ๊ก ลงอินสตาแกรมว่า “ฉันไม่แน่ใจว่าใครบอกไคลีเจนเนอร์กับเคนดอลล์เจนเนอร์ ว่าพวกเธอมีสิทธิทำแบบนี้ สิ่งที่พวกสาว ๆ นี้ทำอย่างไร้ความเคารพนี้ไม่แม้แต่จะพยายามติดต่อกับฉันหรือตัวแทน ฉันคิดไม่ออกเลยว่าทำไมพวกเธอรู้สึกว่าควรเอาความตายของทูแพ็กและคริสโตเฟอร์มาขายเสื้อยืด นี่มันไร้ความเคารพ น่าขยะแขยง และแสวงหาผลประโยชน์ที่แย่ที่สุด”

ตอนนี้เธอให้ทนายจัดการแล้ว

ส่วนชารอน ออสบอร์น ซึ่งภาพใบหน้าออสซีสามีของเธอก็โดนนำไปใช้ก็ทวีตข้อความว่า “สาว ๆ จ๊ะ เธอไม่มีสิทธิเอาหน้าของเธอมาทับปูชนียบุคคลทางดนตรีนะจ๊ะ อยู่กับสิ่งที่หนูรู้จักสิจ๊ะ ลิปกรอสไง”


ส่วนเดอะดอส์ที่โดนนำภาพไปใช้เช่นกันก็ให้ตัวแทนทางกฎหมายส่งจดหมายเตือนสองพี่น้องอย่างเป็นทางการ

“เดอะดอส์ได้รับรู้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเคนดอลล์+ไคลีย์กำลังขายเสื้อโดยใช้ทรัพย์สินที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากเดอะดอส์ การใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในการพาณิชย์อาจทำให้เกิดความสับสนผิดพลาดหรือหลอกลวงผู้บริโภคให้เชื่อว่าเสื้อผ้าของเคนดอลล์+ไคลีย์ได้รับอนุญาตจากเดอะดอส์ ทั้งที่ไม่มีการอนุมัติวหรือร้องขอเดอะดอส์”

ไมเคิล มิลเลอร์ ช่างภาพผู้ถ่ายภาพทูแพ็กยื่นฟ้องเรียบร้อย โดยชี้ว่าสองพี่น้องตั้งใจหาประโยชน์จากภาพถ่ายของเขาโดยไม่รับอนุญาต เรียกค่าเสียหายภาพละ 150,000 ดอลลาร์

เรื่องนี้ไคลีขอโทษง่าย ๆ ว่าทำไปเพราะชอบและยุติการจำหน่ายแล้ว (คงกลัวโดนฟ้องมากกว่าเพราะถ้านึกถึงชื่อเสียงแต่ละคนน่าจะเรียกเงินได้ไม่น้อย)


ดูเหมือนว่าเธอจะโบ้ยไปให้บริษัทรับผิดชอบ ซึ่งทางบริษัทออกมาโต้ว่าไม่ได้ลอกเลียนหรือละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปแต่อย่างใด

ลองนึกถึงกรณีนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้าไม่ใช่สองพี่น้องเจนเนอร์ แต่เป็นศิลปินใหญ่อย่าง แอนดี วอฮอลล์ ซึ่งเคยนำภาพคนดังเช่น เอลวิส เพรสลีย์ มาริลีน มอนโร โคคาโคลา มาใช้ หรืออย่างที่เคยเขียนไปแล้วคือ ริชาร์ด พรินซ์ ที่นำภาพของคนอื่นมาทำซ้ำ

คำว่า “ศิลปินขอยืม แต่ศิลปินใหญ่ขโมย” เป็นวาทะอันโด่งดัง (ของใครก็มิรู้) ทุกคนล้วนรู้ดีว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาจากอากาศ การคิดอะไรได้แต่ละอย่างขึ้นการความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ ทักษะ และอีกหลายอย่างหล่อหลอมเกิดขึ้น ดังนั้นการหยิบยืมหรือได้แรงบันดาลใจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ย้อนกลับมามองกรณี ไคลี + เคนดอลล์ กรณีเราจะถือว่าเป็นงานศิลปะหรือไม่? เข้าใจว่าส่วนใหญ่จะไม่คิดแบบนั้น เห็นว่าเป็นแค่การนำภาพของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มาใช้ แถมยังเอาตัวเองไปทับอีกที มันออกจะไม่เคารพความเป็นตัวตนของศิลปินที่โดนนำมาใช้ งานนี้สองพี่น้องเจนเนอร์จึงโดนรุมกระหน่ำจากรอบด้าน

บางทีหากการนำเสนอดีกว่านี้ คิดให้ถี่ถ้วนกว่านี้ ผลลัพธ์อาจจะออกมาต่างจากนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความฝันของภรรยาชาวประมง

ภาพพิมพ์สมัยเอโดะภาพหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมาก ชื่อความฝันของภรรยาชาวประมง หรือบางทีก็เรียกว่า หญิงนักดำน้ำกับปลาหมึกยักษ์ ผลงานของคัทซูชิตะ โฮกุไซ

พญามังกรแดงผู้ยิ่งใหญ่

ในนิยาย Red Dragon ของ โธมัส แฮร์ริส มีตัวละครหนึ่งเรียกตัวเองว่า “พญามังกรแดงผู้ยิ่งใหญ่” หรือ The Great Red Dragon ฆาตกรต่อเนื่องผู้หลงใหลภาพเขียน The Great Red Dragon and the Woman Clothed in Sun ของวิลเลี่ยม เบลก

ภาพเขียนของจีน-มิเชล บาสเกียต์ ประมูลในราคา 110.5 ล้านดอลลาร์

มีคนประมูลภาพเขียนของจีน-มิเชล บาสเกียต์ ศิลปินผู้ล่วงลับไปในราคา 110.5 ล้านดอลลาร์ ทำให้ภาพเขียนของเขาเป็นภาพเขียนของศิลปินอเมริกันที่มีราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์