ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ยุคดิ่งของนิตยสาร(กระดาษ)

เห็นตัวเลขยอดจำหน่ายนิตยสารในอังกฤษแล้วใจหาย โดยเฉพาะนิวมิวสิเคิลเอ็กเพรส (New Musical Express หรือ NME) ที่ยอดจำหน่ายเปิดเผยล่าสุดเดือนกรกฎาคมตกต่ำถึงขีดสุด ไม่ถึง 15,000 ฉบับ และเมื่อต้นปีเพิ่งทำสถิติดิ่งที่ยอดจำหน่ายต่ำกว่า 20,000 ฉบับเป็นครั้งแรก

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานตรวจสอบยอดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ (Audit Bureau of Circulations เครดิตข้อมูล http://www.abc.org.uk/Certificates-Reports/Our-Reports/ ต้องเป็นสมาชิกเสียเงินถึงดูข้อมูลทั้งหมดได้)) เผยแพร่วันที่ 14 สิงหาคม รายงานว่านิวมิวสิเคิลเอ็กเพรสมียอดจำหน่ายล่าสุดที่ 14,312 ฉบับ และเมื่อรวมยอดจำหน่ายแบบดิจิทัลเข้าไปด้วยยอดจำหน่ายอยู่ราว 15,830 รวมแล้วลดลงเกือบ 28 เปอร์เซ็นต์เทียบยอดจำหน่ายช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่แค่นิวมิวสิเคิลเอ็กเพรสเท่านั้น นิตยสารคิว (Q) ก็มียอดจำหน่ายต่ำกว่า 50,000 ฉบับเป็นครั้งแรก ล่าสุดยอดจำหน่าอยู่ที่ 46,096 ฉบับ รวมดิจิทัลด้วยก็ 48,353 ส่วน โมโจ (Mojo) ทำยอดจำหน่าย 70,667 (ลดจากเดิมประมาณ 10.9 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอันคัท (Uncut) 50,022 ลดลง 12.1 เปอร์เซ็นต์ เคอร์แรง! (Kerrang!) อยู่ที่ 33,024 ฉบับ ลดลง 12.2 เปอร์เซ็นต์

ไม่ใช่ธุรกิจนิตยสารดนตรีที่ได้รับผลกระทบ ต้องใช้คำว่าทั้งวงการนิตยสารเพราะรวมยอดจำหน่ายนิตยสารในอังกฤษ มียอดพิมพ์จำหน่ายลดลงเกือบหนึ่งล้านฉบับ โดยเฉลี่ยครึ่งปีคิดเป็นยอดจำหน่ายลดลง 4.4 เปอร์เซ็นต์ รวมยอดจำหน่ายครึ่งปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 21.2 ล้านฉบับ

แต่ทางด้านนิตยสารดูจะลดลงเกือบทุกเล่ม อย่างเช่นดิอีโคโนมิสต์ ประเทศอังกฤษ (The Economist's UK edition) มียอดจำหน่าย 223,730 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นดิจิทัล 21,780 ฉบับ (เฉพาะยอดจำหน่ายดิจิทัลเพิ่ม 72 เปอร์เซ็นต์) ส่วนนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ก็มียอดจำหน่ายลดลง เช่นเอ็มไพร์ (Empire) มียอดจำหน่าย 134,907 ถ้ารวมดิจิทัลด้วยยอดอยู่ที่ 147,980 ส่วนโททัลฟิล์ม (Total Film) มียอดจำหน่าย 61,003 เอฟเอชเอ็ม (FHM) มียอดจำหน่าย 83,000 ลดลง 22 เปอร์เซ็นต์

เท่าที่อ่านดูคร่าว ๆ ยอดจำหน่ายนิตยสารกระดาษลดลงเกือบทั้งหมด มีไม่กี่ฉบับที่ทำยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเช่น พริมา (Prima)  เพิ่ม 1.21 เปอร์เซ็นต์ คอสโมโปลิแทน (Cosmopolitan) 1.21 เปอร์เซ็นต์ วานิตี้แฟร์ (Vanity Fair)  2.02% และ สไตลิสต์ (Stylist) 0.03% ส่วนผู้นำแฟชั่นอย่างโวค (Vogue) ลดลงนิดหน่อย 0.35 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ายังคงรักษากลุ่มคนอ่านได้เหนียวแน่น

แม้ว่ายอดจำหน่ายนิตยสารดิจิทัลหรืออีแม็กกาซีนจะเพิ่มขึ้นถ้าดูเฉพาะเปอร์เซ็นต์การเติบโต แต่ในเรื่องจำนวนเล่มที่จำหน่ายแล้วยังถือว่าน้อยอยู่มาก ส่วนที่เป็นดิจิทัล (ซึ่งก็แค่จับเอาเนื้อหาในกระดาษลงสื่อดิจิทัลสำหรับอ่านในไอแพ็ดหรือแท็บเล็ตอื่น) รวมกันอยู่ที่ 396,000 เทียบกับยอดจำหน่ายนิตยสารที่เป็นกระดาษ 21.2 ล้าน หรือตัวอย่างชัด ๆ นิตยสารกู้ดเฮาส์คีปปิง (Good Housekeeping) ขายนิตยสาร 403,000 เล่ม แต่มีคนซื้อดิจิทัลเพียง 334 เล่ม

ความต่างกันขนาดนี้แสดงให้เห็นว่าในระยะเวลาอันใกล้ สื่อดิจิทัลในรูปแบบอี-แม็กกาซีน หรือ นิตยสารดิจิทัล คงยังไม่อาจเทียบเคียงนิตยสารกระดาษได้ ผิดจากที่คาดการณ์กันเมื่อครั้งแอ็ปเปิ้ลเปิดตัวไอแพ็ดครั้งแรกเมื่อปี 2010 ว่าจะทำให้นิตยสารดิจิทัลทำยอดจำหน่ายได้มาก  แต่เหมือนว่าความตื่นเต้นแบบนั้นจะมีแค่ปีแรกเท่านั้น เพราะทุกวันนี้ยอดจำหน่ายอี-แม็กกาซีนยังไม่มากเท่าที่คาดกันไว้

สิ่งที่สิ่งพิมพ์หันไปสนใจคือการนำเสนอข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหน้าจอเล็กแบบนั้นไม่เหมาะที่จะขายนิตยสารดิจิทัล สิ่งที่ขายจึงเป็นการเข้าถึงเว็บไซท์ผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้งหลาย อย่างเช่นนิวมิวสิเคิลเอ็กเพรสที่ยอดจำหน่ายนิตยสารลดลง แต่ยอดคนอ่านรวมทุกทาง (เช่นเว็บไซท์) มีจำนวนถึง 3.6 ล้านคนต่อเดือน มีคนอ่านผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 85 เปอร์เซ็นต์ (เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนอ่านเว็บจะอ่านจากทางอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างแท็บเล็ทหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่) ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทจึงจะต่อยอดทางดิจิทัลให้มากขึ้น โดยจะไปวางฐานที่อินเดียและบราซิล

แต่นิตยสารอย่าง เดอะวีค (The Week) ยังคงมุ่งมั่นในเรื่องขายนิตยสารเป็นหลัก พวกเขากำหนดค่าสมาชิกรายปีสำหรับเวอร์ชันดิจิทัล 90 ปอนด์อังกฤษ แต่ถ้าเพิ่มเงินเป็น 120 ปอนด์จะได้ทั้งดิจิทัลและรูปเล่มกระดาษ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ว่าถึงมีคนเข้าดูเว็บไซท์มากมาย แต่คนเหล่านั้นไม่จ่ายอะไรให้บริษัทเลย กลุ่มคนที่สมัครสมาชิกต่างหากสำคัญที่สุดเพราะกลุ่มนี้จ่ายเงินอย่างเต็มใจ ผู้บริหารของเดอะวีคบอกว่า ได้เงินจากสมาชิก 29,000 คน ดีกว่ามีคนดูเว็บ 2,900,000 คนแต่ไม่จ่ายอะไรเลย

โลกอินเทอร์เน็ทมีผลต่อยอดขายนิตยสารแน่นอน โดยเฉพาะกับนิตยสารอย่างนิวมิวสิเคิลเอ็กเพรส ด้วยเหตุผลว่า ถ้าต้องการติดตามข่าว อ่านทางเว็บไซท์เข้าถึงง่ายและเร็วกว่า อยากรู้ว่าอัลบั้มไหนออกและเป็นอย่างไร เปิดเว็บไซท์อย่าง Quietus.com หรือว่า pitchfork.com ได้ข้อมูลง่ายกว่า หรือจะหามาฟังเองก็สะดวก

หนทางรอดของนิตยสาร (กระดาษ) ดนตรีคงต้องหาจุดขายที่ชัดเจนต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความฝันของภรรยาชาวประมง

ภาพพิมพ์สมัยเอโดะภาพหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมาก ชื่อความฝันของภรรยาชาวประมง หรือบางทีก็เรียกว่า หญิงนักดำน้ำกับปลาหมึกยักษ์ ผลงานของคัทซูชิตะ โฮกุไซ

พญามังกรแดงผู้ยิ่งใหญ่

ในนิยาย Red Dragon ของ โธมัส แฮร์ริส มีตัวละครหนึ่งเรียกตัวเองว่า “พญามังกรแดงผู้ยิ่งใหญ่” หรือ The Great Red Dragon ฆาตกรต่อเนื่องผู้หลงใหลภาพเขียน The Great Red Dragon and the Woman Clothed in Sun ของวิลเลี่ยม เบลก

ภาพเขียนของจีน-มิเชล บาสเกียต์ ประมูลในราคา 110.5 ล้านดอลลาร์

มีคนประมูลภาพเขียนของจีน-มิเชล บาสเกียต์ ศิลปินผู้ล่วงลับไปในราคา 110.5 ล้านดอลลาร์ ทำให้ภาพเขียนของเขาเป็นภาพเขียนของศิลปินอเมริกันที่มีราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์